40ปี สงครามเวียดนาม อเมริกาได้อ่ะไร ??

in #war5 years ago

VN-มติชนรายวัน.jpgกาลเวลา 40 ปี ทำให้สงครามเวียดนามกลายเป็นเพียงภาพรางเลือนในความทรงจำของหลายต่อหลายคน ในทางหนึ่งทั้งหมดอาจหดรวมกันเหลือเพียงแค่ แอ็บสแตรคของผู้ชนะและคนแพ้
ในอีกทางความทรงจำที่เด่นชัดกว่ากลับเป็นผลพวงของสงคราม ที่บางคราวเป็นโศกนาฏกรรมยิ่งกว่าตัวสงครามเองด้วยซ้ำไป

สงครามเวียดนามสร้างตัวเลขอัศจรรย์เอาไว้หลากหลายอย่างยิ่ง ตัวเลขที่บางทีทรงความหมายอย่างยิ่งในตัวของมันเอง ขอเพียงแค่นำกลับมาใคร่ครวญ พินิจพิเคราะห์ให้ลึกซึ้ง และปราศจากอคติบดบังเท่านั้น

สงครามเวียดนามเริ่มต้นในปี 1955 สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการเมื่อไซ่ง่อนแตกในปี 1975 ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า สงครามนี้คร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนเท่าใดกันแน่ ได้แต่ประมาณกันไว้คร่าวๆ ว่า มีชีวิตคนสูญเสียชีวิตและส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายไปกับสงคราม 20 ปีหนนี้มากถึง 5,773,190 คน
ในจำนวนนี้เป็นการสูญเสียชีวิตถึง 2,122,244 ราย

ในจำนวนอเมริกันที่ถูกเกณฑ์มาทำสงครามในเวียดนาม จำนวนทั้งหมด 2.59 ล้านคน เสียชีวิตไปมากถึง 58,169 ราย อายุเฉลี่ยของอเมริกันที่ตายไปในสงครามหนนี้คือ 23.11 ปี มีราว 11,465 ราย ที่เสียชีวิตในสงครามเวียดนาม อายุไม่ถึง 20 ปีด้วยซ้ำไป

อเมริกันอีก 304,000 คน ได้รับบาดเจ็บ ในจำนวนนี้มีอยู่จำนวน 75,000 คน ที่กลายเป็นคนพิการร้ายแรงไปตลอดชีวิตที่ยังหลงเหลือ นั่นเนื่องเพราะอาการบาดเจ็บที่ทำให้ถึงกับต้องพิการ ตัดแขนขา อวัยวะอย่างหนึ่งอย่างใดออกไปในสงครามเวียดนามนั้นมีสูงกว่าในสงครามโลกครั้งที่สองถึง 300 เปอร์เซ็นต์

ในขณะเดียวกัน มีทหารเวียดนามเหนือและเวียตกง (กองกำลังติดอาวุธคอมมิวนิสต์ในเวียดนามใต้) เสียชีวิตไปในระหว่างการต่อสู้ในสงคราม 444,000 ราย นั่นน้อยกว่าพลเรือนเวียดนามที่เสียชีวิตไปเพราะสงครามครั้งนี้มากถึง 587,000 ราย และมีทหารเวียดนามใต้ เสียชีวิตไปในสงครามครั้งนี้อีก 440,357 ราย

ประมาณกันว่า มีคนเวียดนามได้รับบาดเจ็บจากสงครามหนนี้ถึง 935,000 คน

จำนวนคนสัญชาติเวียดนาม ไม่แบ่งแยกเหนือใต้และทหารหรือพลเรือนที่เสียชีวิตไปในสงครามครั้งนี้จึงมีมากถึง 1,471,357 ราย น่าเศร้าเพียงใด น่าสลดใจเพียงใด

อเมริกันใช้เงินงบประมาณที่เก็บจากภาษีของราษฎรไปในการทำสงครามหนนี้ รวมแล้ว 352,000 ล้านดอลลาร์ 6,000 ล้านดอลลาร์จากจำนวนดังกล่าวถูกใช้ไปเพื่อการทิ้งระเบิดแบบปูพรมทั้งในเวียดนาม ลาว และกัมพูชา โดยเที่ยวบินทิ้งระเบิดจำนวนมากถึง 1,899,688 เที่ยวบิน ที่หย่อนระเบิดจำนวน 6,727,084 ตัน ลงสู่พื้นดินเป้าหมาย

ในสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพพันธมิตรทิ้งระเบิดใส่เยอรมนีเพียง 2,700,000 ตัน เท่านั้นเอง

ประเมินความเสียหายของเวียดนามเหนือจากผลของการทิ้งระเบิดเหล่านี้มีมากถึง 600 ล้านดอลลาร์ แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับการสูญเสียชีวิตผู้คนจำนวนมาก

ในเดือนเมษายน ปี 1975 เมื่อไซ่ง่อนแตก มีชาวเวียดนามอพยพหนีออกนอกประเทศในวันเดียวมากถึง 140,000 คน อีก 10 ล้านคน หลบหนีออกมาเป็นระยะๆ หลังจากนั้นในจำนวนนี้มี "กำพร้าสงคราม" มากถึง 900,000 คน

ชัยชนะหรือพ่ายแพ้ในสงครามจึงแทบไม่มีนัยสำคัญใดๆ

ในเมื่อสิ่งที่หลงเหลืออยู่คือความสูญเสียมหาศาลของทั้งสองฝ่ายเท่านั้นเอง

สงครามเวียดนามสิ้นสุดลงไม่พร้อมกัน สำหรับอเมริกันทั้งหลาย สงครามเวียดนามสิ้นสุดลงในวันที่ 29 มีนาคม 1973 เมื่อธงชาติ "สตาร์ แอนด์ สไตรป์ส" ที่ "กองบัญชาการให้ความช่วยเหลือด้านการทหารต่อเวียดนาม-เอ็มเอซีวี" ในไซ่ง่อน ถูกเชิญลงจากเสา พับเก็บ เป็นพิธีการสิ้นสุดการปฏิบัติการทางทหารทุกรูปแบบ หลังจากที่รัฐสภาอเมริกันลงมติตัดงบประมาณทั้งหมด เพื่อให้ความช่วยเหลือต่อกองทัพเวียดนามใต้ที่ดำเนินมามากกว่า 11 ปี

สำหรับชาวเวียดนาม สงครามหนนี้ไม่เพียงเริ่มต้นเร็วกว่า ยังสิ้นสุดลงเร็วกว่าด้วย
หลังจากนั้น สงครามเวียดนามในความรู้สึกของชาวเวียดนาม สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการเมื่อ "ไซ่ง่อนแตก" กองทัพเวียดนามเหนือ-เวียตกงบุกเข้ายึดไซ่ง่อนได้อย่างเป็นทางการ
ในวันที่ 29 เมษายน 1975 หรือในอีก 2 ปีถัดมา

ความทรงจำเกี่ยวกับสงครามยาวนานนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละผู้คน บาดแผลของสงครามที่กรีดผ่านความคิดและจิตใจของแต่ละผู้คนแตกต่างกันออกไป ผิวเผิน บางเบา และบาดลึกไม่เหมือนกัน

สิ่งที่ค้างคาอยู่ในจิตใจของ โฮเวิร์ด เคิร์น อดีตทหารอากาศยศจ่าสิบเอก จากโอไฮโอ หนักแน่นและยาว ไม่ใช่เหตุการณ์ในสงครามที่เขาใช้ชีวิตอยู่ยาวนานถึง 1 ปีเต็ม หากแต่เป็นความทรงจำเมื่อเดินทางกลับบ้านเกิดหลังการ "รับใช้ชาติ" ในปี 1968 ในห้วงเวลาที่การเดินขบวนประท้วงต่อต้านสงครามเวียดนามกำลังระอุอยู่ทั่วไปในสหรัฐอเมริกา

images (6).jpegเคิร์นบอกว่า เขาบินกลับสหรัฐอเมริกามาพร้อมกับทหารคนอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง ทุกคนได้รับคำบอกให้เปลี่ยนเครื่องแบบเป็นชุดพลเรือนตั้งแต่ยังอยู่บนเครื่องบิน-เพื่อไม่ให้ตกเป็นเป้าของการประท้วง

เคิร์นซึ่งขณะนี้อายุ 66 ปี บอกว่าสิ่งที่ติดค้างอยู่ในใจเขามากที่สุดก็คือความแตกต่างของบรรยากาศ "ก่อนหน้า" และ "หลัง" จากการเดินทางไปเสี่ยงชีวิตที่เวียดนาม

"สื่อต่างๆ พากันแสดงแต่สิ่งที่แย่ๆ ที่ทหารทำเอาไว้ที่โน่น แล้วก็จำนวนศพเท่านั้น" เขาบอกว่า จีไอทั้งหลายทำอะไรที่ดีๆ ไว้ไม่น้อย "แต่คุณไม่มีวันได้พบเห็นสิ่งเหล่านั้น ไม่มีวันได้เห็นอะไรดีๆ ที่จีไอทำ"

เคิร์นไม่ยอมติดริบบิ้นแสดงตัวเป็นทหารผ่านศึกเวียดนาม ไม่เคยบอกเล่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะเชื่อมโยงเขากับสงครามไกลโพ้น ไม่แม้แต่กับผู้เป็นภรรยา ตราบจนกระทั่งอีกหลายปีให้หลัง หลังจากที่พวกเขาแต่งงานกัน

น่าสนใจที่ความคิดเรื่องนี้แตกต่างออกไปในปัจจุบัน อเมริกันจำนวนไม่น้อยยังคง "เกลียด" สงคราม ยังคงมีขบวนการและกระบวนการต่อต้านสงครามในสังคมอเมริกันเกิดขึ้นให้เห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสงครามอิรัก

พวกเขาเกลียด "สงคราม" แต่ยังคงเคารพต่อ "นักรบ" และยินดีต้อนรับพวกเขากลับบ้าน แตกต่างกันอย่างลิบลับกับการต้อนรับด้วยการประท้วงและด่าทอเมื่อครั้งกระโน้น

หรือนี่คือความไร้ปรานีอีกรูปแบบหนึ่งของสงคราม

เวย์น เรย์โนลด์ส มีความทรงจำในอีกรูปแบบต่อสงครามเวียดนาม เขาทำหน้าที่เป็นทหารประจำหน่วยแพทย์อพยพ และกู้ชีพด้วยเฮลิคอปเตอร์ ระหว่างปี 1968-1969 ในวันที่เลวร้าย การสู้รบเกิดขึ้นอย่างหนักหน่วง เครื่องบินของเขาต้องบินขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อไปร่อนลงยังแนวรบไม่น้อยกว่า 4-5 ครั้ง เพื่อนำทหารที่ได้รับบาดเจ็บไปส่งยังโรงพยาบาลสนาม

ปฏิบัติการครั้งแล้วครั้งเล่าในบรรยากาศน่าพรั่นพรึง ภายใต้สภาวะแวดล้อมน่าหวาดหวั่น สยดสยอง กลับมาหาเขาในรูปของฝันร้าย ฝันถึงภาพของทหารบาดเจ็บ เลือดนองเต็มไปทุกหนแห่ง เสียงคร่ำครวญโอดโอย บาดแผลและสายตาพรั่นพรึงของเหยื่อแห่งความรุนแรงในสงคราม

ฝันร้ายยิ่งรุนแรงมากขึ้น เลวร้ายขึ้นในทุกครั้งที่เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ของวันครุ่นคิดถึงมัน คิดถึงเวียดนาม ราวป่า เฮลิคอปเตอร์ ระเบิด กระสุนและเลือด
"ผมเห็นคนตายมามากเกินไป" เรย์โนลด์สบอก

ปัจจุบัน เรย์โนลด์สใช้ชีวิตอยู่ในเอเธนส์ รัฐอลาบามา ยึดอาชีพเป็นบุรุษพยาบาลจดทะเบียน และในเวลาเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นประธานทหารผ่านศึกเวียดนามแห่งอเมริกาประจำอลาบามามาแล้ว 13 ปี
หลังจากที่เคยพยายามปิดกั้นสงครามจากตัวเองมานานหลายปี ไม่พูดถึง ไม่เคยใส่มันไว้ในประวัติเพื่อการสมัครงานด้วยซ้ำไป

ความจริงย่อมเป็นความจริงอยู่วันยังค่ำ

ประสบการณ์ของ เดนิส ดี. เกรย์ แตกต่างออกไป เขาสัมผัสกับสงครามเวียดนามครั้งแรกในฐานะนายทหารฝ่ายข่าว ยศร้อยเอก ประจำหน่วยข่าวกรองทหารบก ในไซ่ง่อนระหว่างปี 1970-1971 ก่อนที่จะกลับไปที่นั่นอีกครั้ง ในฐานะของผู้สื่อข่าวประจำสำนักข่าวเอพี

ในเดือนสิงหาคม 1973 และส่งผลให้เขาผ่านสารพัดสงครามต่อเนื่องกันยาวนานในอีก 40 ปีต่อมา
ภารกิจที่หน่วยของเกรย์รับผิดชอบก็คือ การเตรียมการเพื่อถอนกำลังทหารออกมาจากเวียดนามใต้ โดยการส่งมอบโครงงาน สรรพาวุธและเสบียงต่างๆ ให้กับกองทัพเวียดนามใต้ ในช่วงที่ถือกันว่าเป็น "ระยะสุดท้าย" ของสงคราม

เกย์บอกว่า โดยส่วนตัวแล้วเขาเข้าสู่กองทัพและเดินทางมายังเวียดนาม เพราะ "อยาก" เชื่อว่า ถึงแม้นี่จะไม่ใช่ "สงครามที่เป็นธรรม" แต่ก็เป็น "สงครามที่จำเป็น" ต้องทำ
"แต่เมื่อถึงที่สุดแล้ว ผมกับเพื่อนๆ แล้วก็ผู้ใต้บังคับบัญชา ต่างเลิกล้มความ "อยาก? ที่ว่านั้น และไม่ค่อยมีใครเชื่ออย่างนั้นอีกต่อไป" ซึ่งทำให้สถานการณ์ที่พวกเขาเผชิญสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

ตอนเขากลับมาอีกครั้ง หลังการถอนทหารอเมริกัน
กลับบ้านราว 4 เดือน สงครามระหว่างกองทัพเวียดนามเหนือ-เวียตกง และกองทัพเวียดนามใต้ยังคงดำเนินต่อไป
ไซ่ง่อนไม่ได้แตกตื่น แต่เต็มไปด้วยความกระวนกระวาย ขวัญกำลังใจตกต่ำ ด้วยความรู้สึกที่ว่า สหรัฐอเมริกากำลังจะลาจากไปโดยไม่ได้ "ปิดงาน"

สงครามเวียดนามกลายเป็นเบ้าหลอมชีวิต "นักข่าว" อีกทั้งชีวิตในเวลาต่อมาของ เดนิส เกรย์ เขาผ่านสงครามและการก่อการร้ายอีกนับครั้งไม่ถ้วนในเวลาต่อมา ตั้งแต่กัมพูชา เรื่อยไปจนถึงอิรัก เขาบอกว่า แค่แว่วว่าจะมีสงคราม หลายคนก็ออกปากบอกว่าเขาต้องไปที่นั่น

"ทั้งๆ ที่ผมไม่ได้ชอบสงคราม-ผมเกลียดมันด้วยซ้ำไป"

โฮ วัน มินห์ อดีตนายทหารเวียดนามเหนือ บอกว่า เขาได้ยินเรื่องการถอนกำลังกลับประเทศของทหารอเมริกันเป็นครั้งแรก ตอนที่ประชุมร่วมกับผู้บังคับบัญชาในสนามรบ ภายในดินแดนของเวียดนามใต้ ข่าวที่ว่านั้นทำให้เกิดความคาดหวังใหม่ๆ ถึงชัยชนะ และ "ช่วยให้เรารบได้อย่างแข็งแกร่งมากขึ้น" แต่โดยส่วนตัวของ โฮ วัน มินห์ แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากนั้นคือ

"วันเวลาที่เลวร้ายที่สุด" ของสงคราม

โฮ วัน มินห์ เสียขาข้างขวาให้กับกับระเบิด ขณะยกกำลังมุ่งหน้าสู่ไซ่ง่อน เมืองหลวงของเวียดนามใต้ในเวลานั้น

แต่เขาบอกว่า การถอนกำลังออกไปของกองทัพอเมริกัน ทำให้กองทัพเวียดนามใต้อ่อนแอลง ขวัญกำลังใจของกองทัพเวียดนามเหนือสูงขึ้น ทุกคนล้วนเชื่อมั่นว่า อีกไม่นาน ไซ่ง่อนก็จะถูก "ปลดปล่อย"

images (7).jpeg40 ปีผ่านไป โฮ วัน มินห์ บอกว่า เขาไม่ได้หลงเหลือความรู้สึกโกรธ เกลียด ชิงชังใดๆ กับทหารอเมริกันเหล่านั้น แม้ว่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศของเขาเสียหายยับเยิน และทั้งทหารและพลเรือนเวียดนามราว 3 ล้านคน ต้องจบชีวิตลง

ถ้าเจอทหารผ่านศึกอเมริกันในวันนี้ โฮ วัน มินห์ บอกว่า เขาจะ "ไม่รู้สึกโกรธ" อีกต่อไป

"แทนที่จะกราดเกรี้ยว ผมจะบอกพวกเขาว่า ผมเห็นใจพวกเขา เพราะเขาถูกส่งมารบที่เวียดนามโดยไม่ได้สมัครใจแต่อย่างใด"

ในเวลาเดียวกัน เขาก็เชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองทำไว้ระหว่างสงครามว่า เป็นสิ่งที่ต้องทำ

"ถ้าใครเข้ามาทำลายบ้านคุณ คุณก็ทำอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากต้องยืนหยัดต่อสู้"

เท่านั้นเอง!

Sort:  

Welcome to the Steem blockchain.
Here your content is king!

Follow 👉🏼 @guruvaj

Hi, I’m using Partiko to make friends and have fun on the Steem blockchain. You should as well! Here’s my invite link: https://partiko.app/referral/guruvaj, you will get 3000 Partiko Points for sign up bonus, and you can exchange them into steem!

Posted using Partiko iOS

Coin Marketplace

STEEM 0.21
TRX 0.25
JST 0.038
BTC 98069.15
ETH 3438.73
USDT 1.00
SBD 3.11