"Farang look Thailand" sore deep in the past.
thaii
'ลาลูแบร์' บอกว่าชาวสยามพูดปดเก่งและขี้ขโมย ส่วน 'บาทหลวง เดอะ แบส' บอกว่าข้าราชการสยามชอบรับของกำนัล ในคอลัมน์ ประวัติศาสตร์ปากว่าง
เมื่อไม่นานมานี้ ฉันได้อ่านกระทู้ตั้งคำถาม ประมาณว่าฝรั่งที่มาเมืองไทยนั้นเขา “โอ้โห” กับเรื่องอะไรบ้าง เช่น บ้านช่อง ห้างร้าน ความทันสมัย ซึ่งคำตอบก็มีทั้งโอ้โหเรื่องดีๆ แล้วก็เรื่องที่ดูแปร่งๆ ฟังแล้วเหมือนโดนตบหน้าไปในตัว เช่น โอ้โหกับเรื่องมอเตอร์ไซต์ขี่บนฟุตบาท หรือโอ้โหกับโชว์ปิงปอง โชว์ยิงลูกดอก โชว์เปิดขวด เป็นต้น
ความโอ้โหของฝรั่ง สะท้อนภาพลักษณ์ของบ้านเราได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งถ้ามองย้อนกลับไปในอดีต ฝรั่งหลายๆ คนก็เคยบันทึกถึง “คนสยาม” ในมุมมองของพวกเขาเอาไว้เยอะเหมือนกัน ซึ่งวันนี้ได้กลายเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ไปแล้ว ถึงแม้มีข้อเท็จจริงที่ว่าชาวต่างประเทศเหล่านี้มาไทยเป็นช่วงเวลาสั้นๆ และมีทัศนคติต่อชาวเอเชียว่าเป็นพวกล้าหลัง การอ่านเอกสารเหล่านี้จึงต้องมีวิจารณญาณให้มาก แต่ก็ถือว่าเป็นภาพสะท้อนมุมหนึ่ง ซึ่งบางเรื่องไม่น่าเชื่อว่ายังพบเห็นได้ในสังคมปัจจุบัน
“ลาลูแบร์” บอกว่าชาวสยามพูดปดเก่งและเป็นขโมย
ราชทูตฝรั่งเศสสมัยสมเด็จพระนารายณ์ “ลาลูแบร์” (de la Loubère) บันทึกถึงเรื่องดีๆ ของชาวสยามหลายอย่าง เช่น รักสะอาดมาก เคารพต่อผู้สูงอายุ มีสติปัญญาฉับไว เจ้าบทเจ้ากลอนโดยกำเนิด และเป็นคนดีละอายต่อบาป
แต่เรื่องไม่ดีนี่ก็เขียนไว้เยอะพอกัน ซึ่งก็เป็นไปตามธรรมชาติปุถุชนผู้ยังไม่บรรลุ เรื่องที่น่าสนใจมีสองเรื่องคือ เขาบอกว่า “ชาวสยามพูดปดเก่ง” และ “ชาวสยามเป็นขโมย” โดย “ชาวสยามจักไม่ปฏิเสธการลักขโมยเลยในเมื่อมีโอกาสที่จะกระทำได้”
นิสัย 2 ข้อหลักๆ นี้ อาจทำให้ชาวสยามดูเจ้าเล่ห์ ไว้ใจไม่ใคร่ได้ในสายตาชาวต่างชาติ โดย “มองสิเออร์เซเบเรด์” (Céberet) เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ที่เดินทางมาเจริญทางพระราชไมตรีกับพระเจ้ากรุงสยาม ราวปี ค.ศ. 1687-1688 ก็เป็นอีกคนที่บันทึกนิสัยเสียข้อนี้ไว้ โดยระยะเวลาหนึ่งปีที่ได้ติดต่อกับข้าราชการไทย ทำให้เขาเห็นดีเห็นงามในการเอานายทหารฝรั่งเศสมาเป็นหัวหน้าบังคับบัญชากองทหารไทยที่บางกอก โดยเขาให้เหตุผลว่า
“...เพราะเป็นการที่อาจจะป้องกันอันตราย โดยเหตุที่ไม่ต้องวิตกถึงความคดโกงและทุจริตของคนไทยต่อไป (ความจริงคนไทยนั้นเป็นคนที่โกงและคิดการทุจริตอย่างหาตัวเปรียบไม่ได้เลย) เพราะนายทหารฝรั่งเศสของเราคงจะได้ควบคุมคอยระวังอยู่เสมอ...”
aw1hz2uvmjaxoc0wms84zwvknjlhy
“บาทหลวง เดอะ แบส” บอกว่าข้าราชการสยามชอบรับของกำนัล
“บาทหลวง เดอะ แบส” (De Bèze) เดินทางมากับคณะเยซูอิตชุดที่สอง สมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ เขียนถึงข้าราชคนสำคัญในรัชสมัยคนหนึ่งนั่นคือ “พระคลัง” หรือพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) เขาบอกว่าโกษาเหล็กอะไรๆ ก็ดี เสียอย่างเดียว คือ “ลุ่มหลงในการสั่งสมทรัพย์สมบัติ ชอบรับของกำนัล” เดอะ แบส เล่าว่า จากเรื่องนี้แหละที่ “ก็องสตังซ์ ฟอลคอน” หนุ่มนักผจญภัยชาวกรีซ อาศัยจุดอ่อน มอบเงินให้โกษาเหล็กอย่างมากมาย ทำให้เขามีโอกาสเข้ารับราชการจนเป็นถึงเอกอัครมหาเสนาบดี
“...คนสยามผู้นี้ (โกษาเหล็ก) ย่อมจะอ่อนไหวไปโดยอำนาจของกำนัลทำนองนี้ จึงสอบถามผู้ให้ว่าตนจะทำสิ่งไรเป็นการตอบแทนแก่เขาได้บ้าง มร.ก็องสตังซ์ตอบว่า ความกรุณาเดียวที่เขาใคร่ขอรับนั้นก็คือขอเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามเท่านั้น...”
ในบันทึกของเขายังเขียนถึงนิสัยชอบรับของกำนัลของโกษาเหล็กจนถึงกับ “ร่ำรวย” โดยบอกว่าโกษาเหล็กมักจะขายของกำนัลที่มีผู้นำมาให้เพื่อเปลี่ยนเป็นเงิน และของกำนัลนั้นๆ ก็จะถูกคนซื้อกลับมามอบให้โกษาเหล็กอีกครั้ง วนลูปไปเรื่อยๆ
“...มีผู้เห็นว่าตะลุ่มบรรจุผลไม้สดและผลไม้กวนที่มีผู้นำมาให้เป็นของกำนัลตะลุ่มเดียวกันนั้นได้ถูกขายออกไปจากทำเนียบให้แก่พ่อค้าไม่ต่ำกว่าวันละ 30 เที่ยว และถูกซื้อกลับเข้ามาให้เป็นของกำนัลอีก เป็นจำนวนเที่ยวเท่าๆ กัน...”
เห็นได้ชัดว่าการรับค่าน้ำร้อนน้ำชาในหมู่ชนชั้นปกครองมีมาตั้งแต่อดีต ซึ่งการรับของกำนัลกันจนร่ำรวยในยุคนั้นอาจไม่ใช่เรื่องผิด แต่ในยุคที่กฎบ้านกฎเมือง กฎของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็มีอยู่ การจะรับหมาบางแก้วตัวแค่ 6,000 บาท ถึงไม่ใช่หมาออกไข่เป็นทองคำทำให้คนรับร่ำรวยขึ้น ก็จำเป็นต้องทำให้ถูกครรลองทางกฎหมาย ไม่แปลกเลยที่เรื่องการรับ “หมาของกำนัล” จะเป็นเรื่องน่าสนใจรับปีจอนี้
“ร้อยโท เจมส์ โลว์” บอกว่าคนสยามนิสัยดี ขบขันรื่นเริงง่าย
“ร้อยโท เจมส์ โลว์” เป็นทูตที่อังกฤษแต่งตั้งมาเจริญไมตรีและจัดการเรื่องการค้ากับเมืองนครศรีธรรมราช ราวปี ค.ศ. 1824 ตรงกับปีสุดท้ายในแผ่นดินรัชกาลที่ 2 จากการมาอยู่สยามนานหลายเดือน เขาได้มีโอกาสดูโขนรามเกียรติ์ และเห็นว่าผู้คนปรบมือเกรียวกราวสนุกสนานชอบใจกับการไต่ไม้ของหนุมาน (ในเอกสารเขียนว่า “หัวละมาน”) อย่างมาก จากจุดนี้เขามีคอมเมนต์บันทึกไว้ในเอกสาร “จดหมายเหตุเจมส์ โลว์” ว่า
“...คนสยามเป็นคนที่มีนิสัยดีตามธรรมชาติและขบขันรื่นเริงง่าย และพวกเขามักตั้งใจปล่อยอารมณ์ไปกับความสนุกสนานและเสียงเพลงชั่วขณะหนึ่ง เพื่อให้ (ลืม?) ความทุกข์ยากประจำวันที่เขาจำต้องทนทานจากการกระทำของผู้ปกครองที่ไม่มีความรู้สึกรู้สมอะไร...”
อ่านตรงนี้แล้วสะอึกนิดนึง... เออ เหมือนฉันเลยอ่ะ เวลาที่รู้สึกเกินขีดจำกัดจากข่าวคราวที่เราไม่อาจทำอะไรได้ เช่น ทหารยิงนักกิจกรรมลาหู่ ประชาชีขอดูกล้องก็ไม่มีใครได้ดู, นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยติดคุกเพราะแชร์ข่าวจาก BBC ทั้งที่มีคนแชร์อีกเกือบสามพันครั้ง, ช้อปปิ้งเรือดำน้ำ, ค่าไข่คาเวียร์เที่ยวบินเหมาลำ, นาฬิกาหรูเรือนที่ 15 ฯลฯ มันเครียดเพราะมองไม่เห็นความยุติธรรมจากผู้ปกครองในปลายทาง จนหลายๆ ครั้งฉันต้องเอาแผ่นซีดี “หอแต๋วแตก” ของผู้กำกับที่ดีที่สุดในประเทศไทย มาเปิดดูซ้ำๆ ให้มุกตลกไร้สไตล์ เต็มไปด้วยคำหยาบคาย และการดำเนินเรื่องที่ไม่ค่อยประติดประต่อ มาช่วยเยียวยาจิตใจ ซึ่งไม่น่าเชื่อฉันขำกับอะไรแบบนี้มากๆ
ซึ่งการปล่อยอารมณ์ไปกับความบันเทิง ฉันว่าไม่ได้หมายถึงแค่มหรสพหนัง เพลง ละเม็งละครแต่อย่างเดียว แต่ยังหมายถึงความบันเทิงจากการได้เสพเรื่องชาวบ้านด้วย จึงไม่แปลกนักที่เราจะเห็นได้ว่าบ้านเรามีสารพัดเรื่องราวเป็นกระแสแบบ “ดราม่า - ฟีเวอร์” ได้ตลอดเวลา ตั้งแต่วาทะกรรมเสก-กานต์, สอดอStyle เลิกแฟน ไปจนถึงภาพหลุดสายป่าน เวลาชื่นชอบอะไรก็เฮโลตามกันไปจนเอียนเลี่ยน เวลาด่าใครก็ถล่มยับจนแทบจะเป็นการ Bully เสมือนว่ากำลังระบายความเครียดจากโลกแห่งความเป็นจริง
ขอย้ำอีกครั้งว่า เอกสารประวัติศาสตร์จากสายตาต่างชาติ ต้องอาศัยวิจารณญาณ แต่ถ้าเอาเฉพาะแต่ความคิดของฉันเอง บางเรื่องนั้นฉันรู้สึกคุ้นเคยเสมือนว่าเห็นมาตลอดชั่วชีวิต 30 เศษๆ และอดที่จะเทียบเคียงกับสถานการณ์ที่เจอทุกวันนี้ไม่ได้
สุดท้ายนี้ถ้าเอกสารเหล่านี้คือประวัติศาสตร์ ก็ขอให้ประวัติศาสตร์ไม่ซ้ำรอย...