✎✎ ภาษาไทยสำคัญไฉน✎✎
เมื่อประมาณสี่เดือนที่แล้ว เราได้มีโอกาสเริ่มทำงานกับบริษัทเอเย่นรายหนึ่ง ซึ่งที่นี่เป็นที่แรกที่ทำให้เราตระหนักถึงสมรรถภาพการใช้ภาษาไทยของเราเอง เพราะก่อนที่เราจะได้เข้ามาร่วมงานกับที่นี่ ทางบริษัทจะให้เราทำบททดสอบของทั้งสองภาษา แต่ไม่ใช่ให้เราแปลนะ เขาให้เราทำข้อสอบแบบตัวเลือก ก. ข. ค. ง. เกี่ยวกับความรู้พื้นฐานของทั้งภาษาไทย และอังกฤษ โดยจะจับเวลาด้วย หมายความว่าเมื่อเวลาหมดระบบจะตัดทันที ทำได้เท่าไหร่คือเท่านั้น ✂ ✂
เราได้ยินดังนั้นก็ยิ้มในใจ เพราะคิดว่าแค่นี้ สบายมาก แต่....ที่ไหนได้ เราเกือบตายด้วยข้อสอบภาษาไทย ส่วนภาษาอังกฤษเราผ่านฉลุย โดยที่ยังมีเวลาเหลืออีกด้วยซ้ำ คำถามคือ เราเป็นคนไทย เกิดประเทศไทย พูดภาษาไทยแต่กำเนิด แต่ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ได้
เราคิดว่าเราเป็นคนหนึ่งที่พยายามพูด อ่าน และเขียนภาษาไทยให้ถูกต้องอยู่ตลอดเวลา แต่พอเจอเหตุการณ์นี้ ทำเรารู้สึกเสียเซลฟ์มาก เพราะเราไม่นึกว่าบรรทัดฐานภาษาไทยของเรายังคงอยู่แถว ๆ เส้นแดงระหว่างสอบผ่าน และ ไม่ผ่าน เอาน่ะ...ยังไงเราก็ผ่านมาได้อย่างทุลักทุเล 😱
เหตุการณ์นี้ทำให้เราหวนคิดว่าจริง ๆ แล้ว ตั้งแต่เด็กเราถูกปลูกฝังให้เรียนภาษาอังกฤษเยอะ ๆ จะได้เก่ง ๆ มีงานดี ๆ รองรับ ซึ่งมันก็จริง เพราะทุกวันนี้ คนที่สามารถพูด อ่าน เขียน ภาษาอังกฤษได้จะได้เปรียบคนอื่นในหลาย ๆ ด้าน แต่สิ่งที่เราลืมไปคือ เราต้องหมั่นบำรุงภาษาไทยของเราด้วย
การที่เราพูดภาษาไทยในชีวิตประจำวัน ทำให้เราคิดว่าเราเก่งภาษาไทย ความรู้ภาษาไทยแน่น เราเป็นเจ้าของภาษา เราจึงละเลยมันและเอาเวลาที่มีไปเรียนรู้ภาษาอื่นอยู่ตลอดเวลาโดยที่ไม่รู้เลยว่าภาษาไทยที่เราเป็นเจ้าของนี่แหละกำลังเสื่อมลงไปทุกวัน ๆ
ยกตัวอย่างเหตุการณ์ครั้งหนึ่งลูกค้าตีเอกสารงานแปลของเรากลับมาให้ตรวจทาน เพราะลูกค้าได้นำเอกสารที่เราแปลนี้ไปให้นักแปลคนอื่นพิสูจน์อักษรอีกทีหนึ่ง รู้มั้ย นักแปลคนนั้นแก้คำว่า "อนุญาต" ให้เป็น "อนุญาติ" ซึ่งคำสะกดที่ถูกต้องจริง ๆ ตามหลักราชบัณฑิตยสภานั้นคือ "อนุญาต" ไม่มีสระอิ เพราะคำนี้ไม่เกี่ยวกับ "ญาติพี่น้อง" เคสนั้นเราจึงต้องตีกลับไปอีกรอบหนึ่ง
ทุกวันนี้เราจึงเข้าเว็บไซต์ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาทุกวัน เพื่อเข้าไปอ่านบทความที่ให้ความรู้เกี่ยวกับภาษาไทย บทความบางเรื่องใกล้ตัวมากเช่นความแตกต่างของคำว่า "ภรรยา" กับ "ภริยา" หลายคนคงจะคิดว่าภรรยาเอาไว้ใช้กับสามัญชนธรรมดา ส่วนภริยาไว้ใช้กับหม่อมเจ้า หรือผู้มียศฐาบรรดาศักดิ์ แต่ความจริงแล้วสองคำนี้สามารถใช้แทนกันได้ในทุกกรณี เป็นคำที่มีความหมายเหมือนกัน "ภริยา" สามารถใช้ได้กับทุกชนชั้นกรรมาชีพเฉกเช่นเดียวกันกับ "ภรรยา"
เราเป็นคนไทยคนหนึ่งที่รักภาษาไทยมาก เพราะเราคิดว่าภาษาไทยทำให้เราเป็นคนที่โดดเด่นกว่าคนอื่น ๆ ทั่วไป เนื่องจากมีไม่กี่คนในโลกที่จะพูดภาษาไทยได้เหมือนพวกเรา จริงไหม
เอาล่ะ...เราพล่ามยาวไปแล้ว งั้นเราขอจบบล็อกของวันนี้ไว้เพียงเท่านี้ ✅ เชิญชวนเพื่อน ๆ มาอนุรักษ์ภาษาไทยของเราโดยเริ่มจากการพยายามเขียนสะกดคำที่ถูกต้องกันค่ะ เพื่อที่ลูกหลานของเราจะได้ใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องแท้จริง อย่างที่รุ่นเราเคยได้เรียนกันมาค่ะ
วันนี้ลาไปหากาแฟกินก่อน (เพราะตอนนี้ใกล้ลงแดงละค่ะ ฮ่าๆๆ)